Thursday, January 26, 2012

การจัดการกับความโกรธ

 การจัดการกับความโกรธ 

      ทุกคนรู้ดีว่า การโกรธเป็นสิ่งไม่ดี แต่การจะห้ามไม่ให้โกรธ นั้นลำบาก โดยเฉพาะเมื่อโกรธเข้าสิงในกายแล้ว ช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ กลืนโลกกินได้ก็จะกลืน โลกอยู่ในกำมือก็จะสามารถ บี้เป็นผงได้ และอีกหลายอย่าง แล้วโทษละ ขั้นเทพเชียว ไปจัดการกับเจ้าตัวโกรธกันดีกว่า จากเว็บไซต์ สวนธรรมะโพธิญาณ

    ถาม วิธีการดูจิตประเภทโทสะจากหยาบ (ขุ่นเคืองมาก) จนถึงละเอียด (เริ่มขัดใจน้อยๆ) ตระหนักถึงความจำเป็นแต่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้?

     ตอบ อย่าเรียกว่า การดูจิตโทสะ เลย ถ้าเข้าใจว่าเป็นเพียงแค่การดูจิต เราจะสับสน และเมื่อปฏิบัติจะได้เพียงแค่สติจำสภาวะได้เท่านั้น ซึ่งขาดปัญญาอันเป็นสิ่งสำคัญในการรื้อถอนสมุหทัย มันต้องหมายครอบคลุมถึง การจัดการ(Deal)กับความโกรธ หรือโทสะนั้น จะถูกตรงกว่า

       ฉะนั้นในเบื้องต้น เราต้อง "พึงระงับความโกรธ ด้วยการไม่โกรธ" ไว้ก่อน เมื่อรู้ว่าจิตปรุงแต่งความโกรธขึ้น ก็ไม่ต้องไปปรุงต่อใดๆทั้งสิ้น เฝ้าดูธรรมชาติของมันไป เพื่อเรียนรู้
       แต่ หากเราไม่สามารถระงับความโกรธเช่นนั้นได้ นั่นแสดงว่ากำลัง(สติ สมาธิ ปัญญา)ของเราอ่อนกว่ากำลังของความยึดติดในสิ่งมากระตุ้นให้เราโกรธนั้น เราจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ด้วยยาแก้บางอย่าง เช่น ใช้เมตตา, การสอนเตือนตัวเองอย่างไรก็ได้ให้มันหยุดโกรธก่อน หรือ ที่สุดก็เดินหนีเสีย
      เมื่ออกุศลจิตเกิด จงระงับเสีย อย่าได้ให้มันเจริญงอกงามเป็นอกุศลกรรมเลย
       นั่นหมายถึงว่า อย่าได้ก่อวจีกรรม หรือ กายกรรมใดๆไปในขณะที่เรากำลังมีความโกรธ มันเป็นสิ่งไม่ดีอย่างยิ่ง มันจะเป็นการตอกย้ำความเคยชินในการโกรธให้แก่ใจของเรา และอาจเป็นการก่อเวรด้วย 
       เมื่อเราสามารถระงับความ โกรธในตอนนั้นได้แล้ว อย่าปล่อยโอกาสให้มันผ่านไป เพราะการทำเพียงที่กล่าวมาข้างต้น มันยังไม่ได้ช่วยให้เรามีกำลังอะไรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญญาที่จะรื้อถอนเหตุแห่งความโกรธนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อประสบกับปรากฏการณ์แห่งความโกรธทั้งที ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า จึงต้องเอามันมาเรียนรู้
       ปัญหาของความโกรธรวมทั้ง อารมณ์ทั้งหลาย เราต้องแยกการเรียนรู้ออกเป็นสองเรื่อง คือ เรียนที่ตัวสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์นั้น และ เรียนที่ตัวอารมณ์นั้นเอง
 1) พิจารณาที่สิ่งกระตุ้น เมื่อเราสามารถระงับความโกรธ หรือ ระงับใจไม่ให้โกรธตอนนั้นได้แล้ว เราจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ดีว่า ทำไมเราถึงเกิดความขัดเคืองเพราะกระทบสิ่งนั้น เราต้องดูความผิดพลาดที่ตัวเราเองว่า เราหลงยึดธรรมคู่อันไหน เพราะธรรมชาติแห่งความโกรธนั้นเกิดจากการประสบกับ สิ่งที่ตนไม่พอใจ ดังนั้น ความผิดพลาดมันจึงอยู่ที่ ทำไมเราจึงหลงไปไม่พอใจสิ่งนั้นต่างหาก
       มันเป็นความผิดพลาดของเราเอง ที่เราหลงไปโกรธสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราวางใจไม่ถูกเองต่างหากไม่ใช่ความผิดของใครอื่น
       ดัง นั้นเมื่อเราไม่พอใจ ซึ่งแน่นอนเพราะเราคิดลบกับสิ่งนั้น เราจึงต้องแก้ด้วยการมองบวก เพื่อผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่นของเรา เราขัดเคืองกับความร้อนแสดงว่าเรามองแง่ลบกับความร้อน เราก็ต้องมองแง่บวกดู คิดพิจารณาด้วยเหตุผลให้เห็นแง่ดีของความร้อน(ต้องเป็นความจริงไม่ใช่หลอก ตัวเอง) เพื่อให้จิตถอนตัวออกจากการมองแต่เพียงแง่เดียว เราไม่พอใจคนด่าว่าเรา เราก็ต้องมองแง่ดีของการด่านั้น เพื่อให้ใจเรามองเห็นสมมุติทั้งหลายตามความเป็นจริง
       เพราะ คนเราจะเซเข้าไปอยู่ในความเห็นข้างใดข้างหนึ่งเสมอ จึงทำให้มองไม่เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง ความเป็นจริงของทุกสิ่งสมมุตินั้น มันมีสองด้านเสมอ มีดีก็มีไม่ดี มีบวกก็มีลบ มีถูกก็มีผิด เมื่อเราสามารถพิจารณาหาเหตุผลจนจิตมันยอมรับความผิดพลาดของตนเองได้แล้ว จิตจะคลายจากความเซ กลับคืนมาอยู่ตรงกลาง ตรงนี้ล่ะถึงจะเป็นเมตตาที่แท้จริง ตรงนี้ล่ะถึงจะเกิดการให้อภัยที่แท้จริง 
       การให้อภัยผู้อื่นที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเรามองเห็นและยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเราเอง
       เพราะ ฉะนั้น ณ จุดนี้เราจะเห็นว่า หากเรายิ่งปิดใจตัวเองด้วยทิฐิมานะ หลงว่าเราถูก เราเก่ง เราดี มันย่อมไม่มีทางรื้อถอนความโกรธในตัวเราได้เลย
2) พิจารณาที่ตัวอารมณ์ เมื่อจิตเราเริ่มคืนสู่ความเป็นกลาง เพราะไม่เซไปจมตามความคิดปรุงแต่งในแง่เดียว เราจำต้องยกตัวอารมณ์โกรธนั้นขึ้นมาพิจารณาอีกทีหนึ่ง ซึ่งการพิจารณาจุดนี้ก็แยกออกเป็นสองอย่าง คือ
2.1) เราต้องพิจารณาให้เห็นโทษภัยของอารมณ์โกรธนั้น เพื่อให้เกิดความกลัว และ เข็ดหลาบ ที่จะไม่โกรธอีก เรียกว่า ให้มี หิริโอตปปะ ให้ได้ ซึ่งมันจะเป็นตัวช่วยให้เกิดพลังในการจัดการกับความโกรธในครั้งต่อไปมากขึ้น
2.2) เราต้องพิจารณาให้เห็น ธรรมชาติของความโกรธเอง คือดูมันตามเป็นจริง มองให้เห็นถึงแก่นแท้ธรรมชาติของมัน ที่เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เป็นมายา หาตัวตนจริงๆไม่ได้ หากเราแจ้งชัดในสิ่งนี้บ่อยๆ เราถึงจะวางความโกรธได้ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความสงบในการเฝ้าดูสังเกตธรรมชาติของมันยามเมื่อมัน ปรากฏ ดูมันไปเรื่อยๆ อย่าด่วนสรุปว่าเรารู้หรือเข้าใจแล้ว ยิ่งดูนานๆ เราก็ยิ่งเข้าใจมันได้มากและแยบคาย
3) แปรเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ คนเรา(นักปฏิบัติ) มักจะมองอารมณ์โกรธนี้เป็นของไม่ดี จนเกิดความเกลียดชัง และต้องการที่จะกำจัดมันไปให้เร็วที่สุด เมื่อเรารู้สึกเช่นนี้ มันยิ่งทำให้เราขัดเคืองกับความโกรธของเราเอง เรียกว่า โกรธความโกรธ มันเลยยิ่งทวีความโกรธเพิ่มขึ้น เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเราไม่เข้าใจความโกรธตามความเป็นจริง เมื่อเราเข้าใจความโกรธตามความเป็นจริง ว่ามันเป็นเพียงปรากฏการณ์แห่งเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น เราก็ใช้มันแปรเปลี่ยนให้เกิดปัญญาแก่ตัวเรา ดังนั้น ทั้งความโกรธ และ สิ่งหรือบุคคลที่ทำให้เราเกิดความโกรธ ก็ล้วนเป็นแหล่งที่จะทำให้เราเกิด ขันติ สมาธิ และ ปัญญา ได้อย่างดี หากเรามีทัศนคติที่ถูกต่อมัน จงแปรเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ ที่จะกล้าเผชิญกับมัน เปิดใจ ยอมรับ และ เรียนรู้ทุกๆสิ่ง โดยไม่ขัดแย้ง หรือ เข้าไปเป็นกับมัน จงถอยออกมาเป็นผู้เรียนรู้สังเกต เพื่อให้เกิดพลัง
       จงมองสิ่งร้ายเหล่านี้ที่ทำให้เราเกิดความโกรธ เป็นดั่งเช่นครู แล้วแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็นพลัง
****** 
ข้อมูลแสนดีจาก  http://www.dmbodhiyan.com

No comments:

Post a Comment